บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

อ่านตรงนี้ก่อน



จักรพรรดิ พระทรงเครื่อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำทั้ง 3 คำนั้น ดูเผินๆ แล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย


สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเป็นที่คุ้นเคยและรู้จักกันดีของคนไทยทั่วๆ ไป คนไทยรู้จักและเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันมานานแล้ว  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็มีมากมายหลายชนิด จนแทบจะนับไม่ถ้วน  มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดเองโดยธรรมชาตินั้น ยังไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจนว่า ทำไม สิ่งเหล่านั้น จึงศักดิ์สิทธิ์ และความศักดิ์สิทธิ์มีขอบเขตกว้างขวางขนาดไหน

พระทรงเครื่องนั้น เป็นพระพุทธรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางนัก  ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างพระพุทธรูปธรรมดากับพระทรงเครื่อง

หลักฐานที่เห็นได้ชัดก็คือ พระแก้วมรกต 

พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ สันนิษฐานกันว่า เป็นพระสมัยเชียงแสน เมื่อสร้างขึ้นครั้งแรก ไม่ได้ทำเป็นพระทรงเครื่อง

การนำเครื่องทรงทั้ง 3 ฤดูไปเปลี่ยนในพระแก้วมรกตนั้น เป็นคตินิยมที่ทำขึ้นภายหลัง

สิ่งที่เป็นปัญหาในทางวิชาการก็คือ ทำไมพระแก้วมรกตจะต้องทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ด้วย เพราะ พระพุทธเจ้าท่านทรงหนีจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์เพื่อไปออกบวช และทรงสวมจีวรเพียง 3 ผืนเท่านั้น

คตินิยมการสร้างพระทรงเครื่องมีมาอย่างไร และมีมาตั้งแต่เมื่อใด  ไทยไปรับเอาของใครมา หรือพัฒนาขึ้นเองในประเทศ  เป็นข้อสงสัยที่น่าใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง

จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า พระทรงเครื่องมีมาตั้งแต่สมัยปาละของอินเดีย  มีมาตั้งแต่สมัยขอม  แต่เครื่องทรงของพระทรงเครื่องในสมัยปาละ และในสมัยขอม แตกต่างไปจากพระทรงเครื่องในสมัยอยุธยา และพระทรงเครื่องในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างเห็นได้ชัด

เราสามารถลงความเห็นเลยว่า พระทรงเครื่องสมัยอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นไม่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและขอม  ควรเป็นพระทรงเครื่องที่พัฒนาขึ้นในอาณาเขตของไทยโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี ขอตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า ในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่นิยมสร้างพระทรงเครื่องกันนั้น  พระองค์ทรงดัดแปลงพระประธานในโบสถ์ให้เป็นพระทรงเครื่อง  ดังรูปด้านล่างนี้


 พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานในโบสถ์วัดหน้าพระเมรุ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปัญหาก็คือ ทำไมจะต้องดัดแปลงพระประธานซึ่งเป็นพระปางมารวิชัยให้เป็นพระทรงเครื่องด้วย  และเครื่องทรงของพระนั้น  ไม่เหมือนของใครในโลก และในภูมิภาคนี้ 

ช่างในสมัยพระเจ้าปราสาททองนำรูปแบบของเครื่องทรงเหล่านี้มาจากที่ใด

สำหรับคำว่า จักรพรรดินั้น ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หลายพระสูตร  ปรากฏอยู่ในไตรภูมิพระร่วงด้วย  แต่ทำไมคนไทยในยุคหลังๆ นี้ ไม่มีใครกล่าวถึงจักรพรรดิว่า มีความสำคัญอย่างไร มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างไร

ในพระไตรปิฎกนั้น กล่าวว่า จักรพรรดิสามารถเผยแพร่ขอบเขตเมืองของท่านไปถึง 4 ทวีป  ไปที่ไหน ที่นั่นก็จะยอมรับให้เป็นจักรพรรดิของแห่งนั้นไปด้วย

จากข้อเขียนดังกล่าว จักรพรรดิน่าจะมีบารมีมากพอสมควร  ทำไมไม่มีใครพูดถึงท่าน

ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตอีกก็คือ การแต่งกายของตัวละครเรื่องรามเกียรติ์ ไทยเราพัฒนามาจากไหน

รามเกียรติ์นั้น เรารับมาจากอินเดียอย่างแน่นอน เพราะ แพร่หลายไปทั่วเอเชียอาคเนย์ เขมรก็มี อินโดนีเซียก็มี  แต่รามเกียรติ์ของอินโดนีเซีย พระราม พระลักษณ์แต่งกายอย่างเช่นคนธรรมดาทั่วๆ ไป 

ส่วนพระราม พระลักษณ์ รวมทั้งตัวละครสำคัญตัวอื่นๆ ของรามเกียรติ์ของไทยนั้น เอาเครื่องแต่งกายมาจากไหน จึงไม่เหมือนกับรามเกียรติ์ของเพื่อนบ้าน

สิ่งที่จะเน้นตรงนี้ก็คือ การแต่งกายของตัวละครเรื่องรามเกียรติ์ มีลักษณะเช่นเดียวกันกับการแต่งกายของพระทรงเครื่อง

การแต่งกายของตัวละครเรื่องรามเกียรติ์กับพระทรงเครื่องมีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร หรือเป็นความบังเอิญ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ ในทางวิทยาศาสตร์ไม่มีการยอมรับเรื่อง การบังเอิญ  ในทางพุทธศาสนาก็ไม่ยอมรับเรื่อง เรื่อง การบังเอิญเช่นเดียวกัน

ความแตกต่างกันอยู่ที่ว่า วิทยาศาสตร์ไม่ยอมกล่าวถึงเรื่องอุบัติเหตุหรือการบังเอิญเลย เพราะ ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร  แต่ในทางพระพุทธศาสนา เราสามารถอธิบายเรื่องอุบัติเหตุหรือการบังเอิญได้

ในบทความชุดนี้นี้ ผู้เขียนต้องการจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระทรงเครื่อง และจักรพรรดิในเมืองไทยนั้น มีความเกี่ยวเนื่องและเกี่ยวพันกัน  ทั้งในทางที่ไปด้วยกันได้ และในทางหักล้างกัน 

ข้อเขียนที่จะได้เขียนถึงนั้น จะใช้หลักฐานทั้งทางเอกสารและผลจากการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกาย

รับรองว่าข้อเขียนจะมีความเป็นเหตุเป็นผลในตนเอง  ถือได้ว่าเป็นงานวิชาการแบบหนึ่ง

ขอบอกก่อนว่า อย่าเอาแนวทางหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) เข้ามาเป็นบรรทัดฐานว่า ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงความเชื่อ หรือความงมงาย เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ใช่องค์ความรู้ที่แท้จริงกว่าองค์ความรู้อื่น

วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่หาความรู้ความจริงได้เพียงแคบๆ เท่านั้น และความรู้ของวิทยาศาสตร์ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย  ดังนั้น  วิทยาศาสตร์ไม่มีอำนาจอะไรที่จะมาพิพากษาองค์ความรู้จากการปฏิบัติธรรมว่าจริงหรือไม่จริง....